Translate

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นกฟอพัสคืออะไร

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนกฟอพัส





นกเป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่มนุษย์ทั่วโลกนำมาเพาะเลี้ยง เพื่อเสริมสร้างความสุขให้กับชีวิตมาเป็นเวลานานแล้วจนบางประเทศใช้นกเป็น สัญลักษณ์ของประเทศก็มี มนุษย์มีความพยายามอย่างสูงมากเพื่อที่จะนำนกต่างๆมาเลี้ยงเป็นเพื่อนและ เพาะขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาโครงสร้าง สายพันธุ์ สีสัน ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าที่มีอยู่ในธรรมชาติ

นกฟอพัสเป็นนกแก้ว(นกตระกูลปากขอ)ชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก ที่สุด (parrotlet) ซึ่งจัดอยู่ในประเภทนกสวยงาม สามารถพัฒนาสีสันได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ส่งเสียงดัง นกฟอพัสเป็นนกที่ถูกจัดให้ขึ้นบัญชีไซเตสประเภท 2 ปัจจุบัน สามารถจำแนกออกได้ทั้งหมด 8 สายพันธุ์ คือ

1.       Yellow-face parrotlet (Forpus xanthops) มี ขนาดความยาว 15 ซม. เป็นสาย พันธุ์เดียวที่มีขนาดความยาวมากที่สุด มีถิ่นกำเนิดในประเทศเปรู

2.       Maxican parrotlet (Forpus cyanopygius, Forpus c. insularis) มีขนาดความยาว 13 ซม. มีถิ่นกำเนิดในประเทศแมกซิโก

3.       Green-rumped parrotlet (Forpus passerinus, Forpus p. viridissimus, Forpus p. deliciosus) มีขนาดความยาว 12 ซม. มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส

4.       Blue-winged parrotlet (Forpus xanthopterygius, Forpus x. flavissimus, Forpus x. flavescens) มีขนาดความยาว 12 ซม. มีถิ่นกำเนิดในประเทศอาเจนติ น่า บราซิล

5.       Spectacied parrotlet (Forpus conspicillatus, Forpus c. caucae) มีขนาดความยาว 13 ซม. มีถิ่นกำเนิดในประเทศปานามา

6.       Turqoise-rumped parrotlet (Forpus spengeli) มีขนาดความยาว 12 ซม. มีถิ่นกำเนิดในประเทศโคลัมเบีย

7.       Sclaters parrotlet (Forpus sclateri) มีขนาดความยาว 12 ซม. มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล

8.       Pacific parrotlet (Forpus coelestis) มี ขนาดความยาว 13 ซม. มีถิ่น กำเนิดในประเทศเปรู




การเพาะเลี้ยงนกฟอพัสในประเทศไทยสามารถทำได้ไม่ยากนัก เคยมีคนนำนกประเภทนี้เข้ามาทดลองเลี้ยงเมื่อประมาณ 10 ปี มาแล้ว แต่อยู่ในวงจำกัดและมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากนกชนิดนี้มีปริมาณน้อยมากโดยเฉพาะนกสีสูงหรือนกสีใหม่ ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงไม่ค่อยรู้จัก หรือเคยพบเห็นตัวจริง ผู้เพาะเลี้ยงรุ่นก่อนมักจะเรียกนกชนิดนี้ว่า แปซิฟิก ซึ่งเป็นเพียงสายพันธุ์เดียวของนกฟอพัสเท่านั้น และเป็นสายพันธุ์ที่สามารถพัฒนาสีสันได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันเริ่มมีผู้เพาะเลี้ยงนกให้ความสนใจนกชนิดนี้มากขึ้น แต่จำนวนนกที่มีเหลืออยู่ภายในประเทศลดน้อยลงเป็นอย่างมากจนนกชนิดนี้แทบจะ หมดไปจากประเทศไทย ภายหลังจากเกิดไข้หวัดนก ซึ่งทำให้ผู้เพาะเลี้ยงรุ่นเก่าขายออกไป และนกดังกล่าวถูกชายต่างชาติซื้อไปเลี้ยงอีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงที่ต้องการมีนกชนิดนี้ไว้เป็นเจ้าของ หาซื้อนกค่อนข้างยากมากขึ้น


การเลี้ยงนกชนิดนี้สามารถเลี้ยงรวมกันได้ในกรงใหญ่ หรือจะเลี้ยงเป็นคู่ๆก็ได้ ในกรณีที่ต้องการเพาะขยายพันธุ์ควรเลี้ยงเป็นคู่ กรงที่ใช้สำหรับเพาะพันธุ์ควรมีขนาดไม่เล็กกว่าหมอนใหญ่ ระยะห่างของลวดที่ใช้ทำกรงไม่ควรมากนัก เพราะขนาดของตัวนกมีขนาดค่อนข้างเล็ก อาจทำให้นกหลุดจากกรงที่เลี้ยงดูอยู่ได้ ในต่างประเทศนิยมใช้กรงหมอนใหญ่เพื่อลดขนาดพื้นที่โรงเรือน ในกรณีที่มีพื้นที่น้อยหรือต้องการเลี้ยงในห้องพัก อพาตเม้นต์ หรือคอนโดมิเนียม ควรเลี้ยงในกรงหมอนเล็ก ซึ่งสามารถจัดวางไว้ที่มุมห้อง หรือระเบียงก็ได้




การเพาะขยายพันธุ์นกฟอพัส ให้นำนกที่พร้อมผสมพันธุ์โดยสังเกตว่านกมีการผลัดขนเรียบร้อยแล้ว (โดยทั่วไปอายุเฉลี่ยประมาณ 9 เดือน) มาจับคู่ตามที่ต้องการ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ให้นำรังไข่ที่มีขนาดเดียวกันกับรังไข่นกเลิฟเบิร์ดมาแขวนไว้ ภายในรังไข่ใส่ขี้กบที่มีขายในร้านค้าอาหารและอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงนก มารองก้นรังสูงประมาณ 1 นิ้ว หลังจากนั้นนกจะเข้าไปตกแต่งรังเพื่อวางไข่ต่อไป นอกจากรังไข่ก็ยังสามารถใช้รังเปลือกมะพร้าวแทนได้เช่นกันแต่ไม่จำเป็นต้อง ใส่ขี้กบรองก้นรัง

นกฟอพัสสามารถวางไข่ได้ปีละประมาณ 4-5 ครั้งๆ ละประมาณ 4-7 ฟอง ระยะเวลาฟักไข่ประมาณ 18 วัน เมื่อลูกนกอายุครบ 28 วัน ก็จะลงจากรังมาหาอาหารกินได้เอง นกฟอพัสเป็นนกที่สามารถแยกคู่ได้ แต่ควรแยกนกไว้อย่างน้อย 1 เดือน จึงค่อยทำการจับคู่ใหม่




การจำแนกเพศนกฟอพัส สามารถจำแนกเพศได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ลูกนกอายุประมาณ 3 สัปดาห์ โดยจำแนกจากความแตกต่างของสีที่ลั้มและโคนปีก เพศเมียจะมีสีเช่นเดียวกันกับสีของตัวนก ยกเว้น นกขาวตาแดงซึ่งไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศผู้กับเพศเมีย ต้องอาศัยการตรวจเพศจากห้องแล็บหรือใช้วิธีลองจับคู่ก็ได้

อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงนกฟอพัส นิยมใช้เมล็ดธัญพืช ที่ผสมรวม 15 อย่าง ที่มีขายตามแหล่งขายอาหารนก หรืออาจผสมเองก็ได้ ซึ่งอย่างน้อยควรมีส่วนผสม อันได้แก่ ทานตะวัน มิลเลต ข้าวไร ข้าวโอ๊ดและข้าวเปลือกเม็ดมะเขือ เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถให้ผักและผลไม้ได้อีกด้วย ควรเปลี่ยนน้ำผสมวิตามินทุกวัน และให้กระดองปลาหมึกเพื่อช่วยให้นกสามารถรักษาปริมาณแคลเซี่ยมในร่างกายให้ สมดุลย์ โดยเฉพาะนกเพศเมียที่จะต้องใช้แคลเซี่ยมในการสร้างเปลือกไข่




สีสันของนกฟอพัส ปัจจุบันมีมากกว่า 10 สี เช่น เขียว ฟ้า เหลือง ขาว พายด์ เป็นต้น ซึ่งเป็น นกในสายพันธุ์ Pacific parrotlet ซึ่งมีลักษณะการถ่ายทอดพันธุกรรม 2 แบบ ได้แก่ incomplete dominant ในนกพายด์ กับแบบ recessive ในนกสีอื่น ส่วนสายพันธุ์ Blue-winged parrotlet ในนกลูติโน่ จะมีการถ่ายทอดพันธุกรรมเป็นแบบ sex-linked

โรคติดต่อที่พบในนกฟอพัส ยังไม่พบว่ามีโรคติดต่อเช่นนกชนิดอื่น นอกจากนี้ยังเป็นนกที่สามารถเลี้ยงได้โดยไม่จำเป็นต้องทำมุ้งกันยุง โดยทั่วไปนกฟอพัสเป็นนกที่มีอายุยืนถึง 20 ปี


 


นกฟอพัสมีจุดเด่นหลายประการ คือ เป็นนกแก้วที่มีขนาดเล็กมากที่สุด น่ารัก มีสีสันสวยงาม จำแนกเพศได้ง่าย สามารถเลี้ยงในแหล่งชุมชน หอพัก โดยไม่ส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้านหรือห้องข้างเคียง กินอาหารไม่มาก เลี้ยงลูกเก่ง อายุยาวนาน และไม่มีโรคติดต่อ จึงเหมาะสำหรับนำมาเลี้ยงดูเล่นอย่างมาก


 


เขียน-ภาพ โดย  นายสมพงษ์  ชื่นอิ่ม           เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549

บทความนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารสำหรับคนรักนก “ คนเลี้ยงนก” ปีที่ 1 ฉบับที่ 4  ก.พ. - มี.ค. 2549

เจ้าของลิขสิทธิ์    นายสมพงษ์  ชื่นอิ่ม

ข้อความและรูปภาพทั้งหมดในบทความนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2537 การคัดลอกส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของบทความนี้ ไปเผยแพร่ในทุกรูปแบบ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน  
จากเว็บ สยามฟอพัส ขอบคุณท่านอาจารย์สมพงษ์ ชื่นอิ่ม อย่างสูงมา ณ ที่นี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น